ตำลึง ผักพื้นบ้านริมรั้ว กินป้องกันเบาหวาน ลดน้ำตาลดีที่สุด

Advertisements

ตำลึง ผักพื้นบ้านริมรั้ว กินป้องกันเบาหวาน ลดน้ำตาลดีที่สุด

ตำลึง ผักพื้นบ้านริมรั้วคู่ครัวไทย ที่คนไทยใช้ยอดและใบตำลึงกินเป็นผักสด อาจนำไปต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้ปรุงในแกงต่างๆ เช่น แกงจืด แกงเลียง  นำไปผัดตำลึงไฟแดง หรือใส่ในไข่เจียว

สำหรับผลอ่อนของตำลึงกินกับน้ำพริกคล้ายแตงกวา หรือดองกินคล้ายแตงดองได้ เนื้อในผลสุกของตำลึงมีรสอมหวาน กินได้ อุดมด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานินที่ต้านอนุมูลอิสระและดูแลผนังหลอดเลือดให้ อ่อนนิ่มใช้งานได้ยืนยาว ใบตำลึงเป็นอาหารที่มีบีตาแคโรทีนสูงมาก

และนอกจากนี้การกินตำลึงจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยให้เอายอดตำลึงประมาณครึ่งกำมือ โรยเกลือพอให้มีรส ห่อใบตอง นำไปเผาไฟให้สุก กินก่อนนอนติดต่อกัน 3 เดือน กล่าวว่าน้ำตาลในเลือดก็จะลดลง

ผักตำลึง

ยาเบาหวาน คลานตามรั้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt, Coccinia cordifolia Gagnep

วงศ์ Cucurbitaceae

ชื่ออื่นๆ ผักแคบ (ภาคเหนือ) แคเต๊าะ (แม่ฮ่องสอน) ผักตำนิน (อีสาน)

การใช้ประโยชน์อื่นๆ

ตำลึงเป็นผักที่นิยมนำยอดมาลวกหรือนึ่ง เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงจืด แกงเลียง ใส่ก๋วยเตี๋ยว ผัดน้ำมัน ใส่ในแกงแค แกงปลาแห้ง ผลอ่อนนำมานึ่งกิน ดองกินกับน้ำพริกได้ ผลอ่อนที่ก้านดอกเริ่มจะหลุดกินสดได้กรอบอร่อย ไม่ขม เป็นยาบำรุงสุขภาพ รักษาปากเป็นแผล ผลอ่อนที่ยังหนุ่มๆ อยู่จะมีรสขมต้องคั้นน้ำเกลือให้หายขมก่อนนำมาแกง ส่วนผลสุกคนกินได้ สัตว์ก็ชอบกิน

นอกจากนี้ ตำลึงยังเป็นผักที่ใช้แทนผงชูรสได้ โดยนำใบทั้งแก่ทั้งอ่อนประมาณกำมือใส่ต้มไก่ ต้มปลา ต้มเป็ด จะมีรสชาติออกมาหวานนัวเหมือนกับใส่ผงชูรส

ตำลึงมีวิตามินเอสูงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการตามัวจากการขาดวิตามินเอ และเหมาะกับคนผิวแห้งไม่มีน้ำมีนวล เพราะนอกจากจะมีวิตามินเอสูงแล้วยังมีวิตามินบี ๓ ที่ช่วยบำรุงผิวหนังได้เป็นอย่างดี

ตำลึงเป็นผักที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ มากคุณค่าทางโภชนาการ ให้แคลเซียมสูงน้องๆ นม การกินผักตำลึงเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง กระดูกแข็งแรง

การใช้ประโยชน์ทางยา

ตำลึงเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังพวกผื่นแพ้ ตำแย หมามุ่ย หนอนคัน บุ้ง หอยคัน มดคันไป ผื่นคันจากน้ำเสีย ผื่นคันจากละอองข้าว ผื่นคันชนิดที่ไม่รู้สาเหตุ เริม งูสวัด สุกใส หิด สิว ฝีหนอง เป็นต้น

ส่วนการกินตำลึงจะช่วยระบายท้อง ลดการอึดอัดท้องหลังกินอาหารเนื่องจากมีสารช่วยย่อยแป้ง และช่วยแก้ร้อนใน เป็นต้น

ที่สำคัญคือตำลึงเป็นยาพื้นบ้านใช้รักษาเบาหวาน ทั้งราก เถา ใบ ใช้ได้หมด มีสูตรตำรับหลากหลาย และในตำราอายุรเวทก็มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ชาวเบงกอลในอินเดียใช้ตำลึงเป็นยาประจำวันสำหรับแก้โรคเบาหวาน

รายงานการศึกษาวิจัย

สำหรับการรักษาเบาหวานด้วยตำลึงนั้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตำลึงจำนวนมากและเป็นสมุนไพรที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุดตัวหนึ่ง จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลการลดน้ำตาลดีที่สุด

ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง

สรรพคุณของตำลึงที่ช่วยลดน้ำตาล คือ ใบ ราก ผล มีการศึกษาพบว่าการกินตำลึงวันละ ๕๐ กรัม (ครึ่งขีด) ทุกวันสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
ข้อดีของตำลึงคือปลูกง่าย หาง่ายและราคาถูกกว่าโสมมากโดยเฉพาะในบ้านเรา

ตัวอย่างตำรับยาเบาหวาน
ตำรับ ๑ : นำรากผักตำลึง รากผักหวานป่า รากฟักข้าว รากกุ่มน้ำ รากุ่มบก ต้มกินติดต่อกันไปเรื่อยๆ
ตำรับ ๒ : ข้อรากผักตำลึงฝนกับน้ำดื่ม หรือใช้เถาผักตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว ๒-๓ นิ้ว จำนวน ๑ กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน ๑๕-๒๐ นาที นำมาดื่มเช้า-เย็น ติดต่อกันอย่างน้อย ๗-๑๐ วัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด หรืออาจใช้ส่วนของต้น ใบ และราก ต้มรวมกันแทนเถาอย่างเดียวก็ได้
ตำรับ ๓ : นำยอดตำลึง ๑ กำมือหรือขนาดที่กินพออิ่มโรยเกลือหรือเหยาะน้ำปลา (เพื่อให้อร่อยพอกินได้) ห่อด้วยใบตอง นำไปเผาไฟให้สุกแล้วกินให้หมด หรือกินจนอิ่ม กินก่อนนอนติดต่อกัน ๓ เดือน

คำแนะนำ : ตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น เมื่อทาน้ำตำลึงที่ผิวหนังแล้วไม่รู้สึกเย็นแปลว่าไม่ถูกโรค ให้หยุดใช้ทันที การทาน้ำตำลึงไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น


ที่มา...http://www.thaihealthycare.com/treat-diabetes-with-coccinia-grandis/
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น