กระชายดำ สมุนไพรบำรุงกำลัง บำรุงประสาท ชะลอความแก่ พร้อมวิธีทำน้ำกระชายดำ

Advertisements

กระชายดำ สมุนไพรบำรุงกำลัง บำรุงประสาท ชะลอความแก่ พร้อมวิธีทำน้ำกระชายดำ

กระชายดำ เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี อยู่ในตระกูลเดียวกันกับขมิ้น กระชาย ข่า ขิง มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นพืชท้องถิ่นของทวีปเอเชียเขตร้อน พบการกระจายพันธุ์อยู่หนาแน่นที่เกาะสุมาตรา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ส่วนประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภูมิภาค โดยสามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติบนภูเขา แต่พื้นที่ที่มีการปลูกกระชายดำมากและมีชื่อเสียงที่สุดคือ จังหวัดเลย รองลงมาคือ จังหวัดตาก กาญจนบุรี พิษณุโลก เป็นต้น

กระชายดำ ถือเป็นสมุนไพรคู่กายหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ตั้งแต่ครั้งโบราณเลยก็ว่าได้ ก็แหม...สรรพคุณของกระชายดำในเรื่องที่ช่วยคงกระพันชาตรี บำรุงสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มความปึ๋งปั๋ง นั่นแหละ จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันเจ้ากระชายดำถูกนำมาเป็นส่วนผสม แปรรูปอยู่ในผลิตภัณฑ์มากมาย แต่...เอ สรรพคุณและประโยชน์ของกระชายดำจะมีดีเพียงเรื่องเดียวหรือ? เห็นทีงานนี้ต้องค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันแล้วค่ะ

กระชายดำ มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ว่านจังงัง ว่านกำบัง ซึ่งเป็นความเชื่อของนักรบในสมัยโบราณว่า ถ้าหากนำหัวของกระชายดำไปปลุกเสกแล้วนำมาอมก่อนที่จะไปออกรบ จะช่วยให้คงกะพันชาตรี ช่วยกำบังร่างกายจากการมองเห็นของศัตรู

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเทียมอยู่เหนือดิน กลม เรียวยาว เกิดจากกาบใบหุ้มกันจนมีลักษณะเหมือนลำต้น ส่วนลำต้นแท้อยู่ใต้ดินเรียกกว่าเหง้า มีลักษณะเป็นทรงกลม อวบน้ำ มีปุ่มปมทั่วเหง้า ผิวมีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดเท่าๆ กันและมีหลายเหง้า เนื้อในของเหง้ามีสีม่วงอ่อนไปจนถึงม่วงเข้มเกือบดำ แต่กระชายดำที่ดีควรมีสีเข้ม เนื้อเหง้ามีรสขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี ชอบที่ร่มเงา อากาศค่อนข้างเย็น ขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าหากต้องการกระชายดำที่มีคุณภาพดีที่สุดต้องปลูกช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม

ใบ เป็นใบเดี่ยว มีรูปทรงเรียวยาวคล้ายรูปไข่ แต่ปลายใบจะแหลม มีร่องกลางใบลึกเห็นชัดเจนซึ่งยาวไปจนถึงโคนก้านใบ มีเส้นใบหลายเส้นเริ่มจากร่องกลางใบไปจรดขอบใบ ผิวใบและขอบใบไม่เรียบโดยจะหยักและเป็นคลื่นเล็กน้อยตามแนวเส้นใบ ใบมีสีเขียวสด กลิ่นหอม ก้านใบกลมยาวอวบหนา ผิวก้านสีแดงอ่อนๆ โคนใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มกันจนดูเหมือนลำต้น

ดอก เป็นดอกช่อ แทงดอกมาจากยอด กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก กลีบสีขาวแต้มชมพู เกสรตัวผู้มียอดคล้ายปากแตร ผิวเกลี้ยง ไม่มีขน

ลักษณะของกระชายดำ

ในปัจจุบันยังไม่มีการจำแนกสายพันธุ์ของกระชายดำไว้อย่างชัดเจน แต่ก็สามารถจำแนกได้เป็น 3 สายพันธุ์หลักๆ โดยใช้สีของเนื้อเหง้าเป็นเกณฑ์คือ พันธุ์เหง้าสีดำ พันธุ์เหง้าสีม่วงและพันธุ์เหง้าสีน้ำตาล โดยทั้ง 3 สายพันธุ์นี้พันธุ์สีดำพบได้น้อยที่สุด เนื้อเหง้าจะมีสีดำสนิท เหง้ามีขนาดเล็กกว่าสายพันธุ์อื่น มีชื่อเรียกเฉพาะว่ากระชายลิง และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

กระชายดำมีส่วนประกอบสำคัญได้แก่ สารในกลุ่มฟลาโวน สารฟลาโวนอยด์ น้ำมันหอมระเหย สารแอนโทไซยานิน สารฟีนอลิก กระชายที่มีสีเข้มจะมีสารฟลาโวนอยด์และฟีนอลิกสูง ส่วนกระชายดำกลุ่มสีจางจะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่า

กระชายดำต่างจากกระชายแดง-เหลืองอย่างไร?

กระชายมีด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิดคือ กระชายดำ กระชายแดงและกระชายเหลือง ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และการนำมาใช้ต่างกันดังนี้

1. กระชายดำ ส่วนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ “เหง้า” ซึ่งเป็นลำต้นใต้ดิน มีสีดำ ม่วงหรือน้ำตาลอ่อนแล้วแต่สายพันธุ์ มีสรรพคุณที่โดดเด่นในเรื่องการบำรุงสมรรถภาพทางเพศในคุณผู้ชายและช่วยบำรุงเลือดลมสตรี

2. กระชายเหลือง ส่วนที่นิยมนำมาใช้คือส่วนที่เป็นรากสะสมอาหาร หรือที่เรียกว่า “นมกระชาย” มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อในกรอบสีเหลือง สามารถนำมาทำเครื่องแกงหรือทานสดๆได้โดยไม่ผ่านการปรุง มีสรรพคุณทางยามากมายจนถูกยกย่องว่าเป็น “โสมไทย”

3. กระชายแดง มีลักษณะคล้ายกับกระชายเหลืองมาก แต่นมกระชายจะมีขนาดเล็กกว่ากระชายเหลือง กลิ่นหอมอ่อนๆ สีเหลืองอมส้มเข้มกว่ากระชายเหลือง ส่วนสรรพคุณนั้นเหมือนกันกระชายเหลือง


13 สรรพคุณ-ประโยชน์ของกระชายดำ

1. กระชายดำเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณทั้งให้สดใส เปล่งปลั่ง ช่วยกระตุ้นและบำรุงระบบประสาท ช่วยให้สดชื่นแจ่มใส

2. กระชายดำช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แก้กามตายด้าน ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี เพิ่มระยะการแข้งตัวและยืดเวลาการหลั่งของอวัยวะเพศ

3. กระชายดำช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ เนื่องจากช่วยบำรุงประสาท จึงช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี

4. กระชายดำช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยบำรุงหัวใจ ปรับสมดุลความดันโลหิต

5. กระชายดำช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร รักษาโรคกระเพาะอาหาร ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดจากอาหารไม่ย่อย ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ต่อต้านแบคทีเรียในลำไส้

6. กระชายดำช่วยรักษาโรคท้องร่วง บรรเทาอาการปวดมวนท้อง ท้องเดิน รักษาโรคบิด อุจจาระมีมูกเลือดปน

7. สรรพคุณของกระชายดำช่วยบำรุงสตรี บำรุงเลือด ช่วยลดตกขาว ช่วยขับประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ บำรุงมดลูก แก้มดลูกพิการ หากต้มให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่ม จะช่วยบำรุงและกระตุ้นน้ำนม ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ลดความเสี่ยงในการตกเลือดหลังคลอด

8.  กระชายดำช่วยรักษาโรคผิวหนัง จำพวกกลากเกลื้อน เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อรา

9. กระชายดำช่วยบรรเทาปวด เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดตามข้อกระดูก ปวดโรคเก๊าต์ บรรเทาอาการเหน็บชา ลดความเหนื่อยล้า ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย

10. กระชายดำช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะกระปริดกระปรอย

11. กระชายดำช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยช่วยควบคุมความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด

12. กระชายดำช่วยรักษาแผลบางชนิด เช่น แผลในปาก ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตก ช่วยยับยั้งเชื้อโรค จึงทำให้แผลหายไวขึ้น

13. กระชายดำแก้ลมวิงเวียน ลดการใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ มือเท้าเย็น แน่นหน้าอก ทำให้รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว

กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย

มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ในเรื่องสรรพคุณของกระชายดำที่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศพบว่า สารสกัดเอทานอลจากเหง้ากระชายดำทำให้หนูทดลองมีพฤติกรรมและระบบสืบพันธุ์ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนการศึกษาทดลองในคน มีการศึกษาในผู้ชายที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุเฉลี่ย 65 ปี โดยให้ทานแคปซูลสารสกัดจากเหง้ากระชายดำขนาด 25 และ 90 มิลลิกรัม เป็นเวลา 2 เดือน ผลที่ได้คือ สารสกัดขนาด 90 มก.ช่วยเพิ่มการตอบสนองทางเพศได้ โดยลดระยะเวลาการหลั่งน้ำอสุจิ ช่วยเพิ่มขนาดและความยาวของอวัยวะเพศ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีขึ้น แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดกระชายดำ การตอบสนองทางเพศก็กลับมาเหมือนเดิม

โทษ-ผลข้างเคียง-ข้อระวังในการทาน

สำหรับผลข้างเคียงในการทานกระชายดำนั้น ยังไม่มีข้อมูลระบุไว้อย่างเจน แต่ยังมีบุคคลบางประเภทไม่ควรรับประทานกระชายดำ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยที่มาสนับสนุนด้านความปลอดภัยมากพอดังนี้

เด็กและสตรีตั้งครรภ์ เพราะอาจจะเกิดผลกระทบร้ายแรงได้

ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ เพราะการทานยาชนิดใดชนิดหนึ่งนานๆ อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ

ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาอื่นๆ เนื่องจากกระชายดำอาจจะทำให้ยาที่กำลังใช้อยู่มีประสิทธิภาพลดลงได้

วิธีทำน้ำกระชายดำ

ใช้เหง้าสดฝานบางๆมาดองกับน้ำผึ้ง นำกระชายดำที่ได้ดองแล้วมาแช่กับน้ำดื่ม หากใครไม่มีน้ำผึ้งสามารถนำกระชายดำฝานมาแช่น้ำแล้วดื่มได้เลย

นำเหง้าสดมาฝานบางๆแล้วไปตากแห้ง นำมาดองน้ำผึ้ง 7 วัน นำส่วนผสมที่ได้มาผสมน้ำดื่มแล้วดื่มก่อนนอน

นำเหง้าสดมาฝาน จากนั้นตากให้แห้ง นำมาบดให้ละเอียด เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เมื่อต้องการดื่มให้นำผงกระชายดำมาชงเป็นชาด้วยน้ำร้อน ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลตามใจชอบ
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระชายดำ

กระชายดำในปัจจุบันนอกจากจะนำเหง้าสดมาใช้ประโยชน์แล้ว ยังนำมาแปรรูปเพื่อให้สะดวกต่อการรับประทานและการเก็บรักษา กระชายดำแปรรูปมีหลายชนิด ดังนี้

1. กระชายดำแคปซูล คือการนำกระชายดำสดไปเข้ากระบวนการระเหยน้ำออก จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดแล้วบรรจุแคปซูล เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบทานกระชายดำแต่ต้องการได้ประโยชน์จากกระชายดำ

2. กระชายดำผง นำเหง้ากระชายดำสดมาฝานบางๆแล้วอบให้แห้ง จากนั้นบดให้ละเอียดแล้วบรรจุซอง เหมาะสำหรับชงเป็นชาดื่ม

3. กระชายดำอบแห้ง นำเหง้ากระชายดำสดมาฝานบางๆแล้วอบแห้ง บรรจุซอง สามารถนำมาชองได้เหมือนกันกับกระชายดำผง

4. น้ำกระชายดำเข้มข้น ผลิตได้หลายวิธีเช่น จากการดองเหล้า จากการดองน้ำผึ้งหรือจะสกัดจากกระชายดำเพียงอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

5. ไวน์กระชายดำ เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากกระชายดำที่ได้รับความนิยม เกิดจากการการหมักกระชายดำกับเข้าส่วนผสมสำคัญอื่นๆ ในการผลิตไวน์ ปัจจุบันจัดเป็นสินค้าโอท็อปชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้เกษตรกรไทย

จะเห็นได้ว่าสรรพคุณ-ประโยชน์ของกระชายดำไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเท่านั้น แต่เป็นสุดยอดสมุนไพรบำรุงร่างกายตัวจริงที่สามารถทานได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังนั้นหากมีไว้ติดบ้านสักหน่อยคงดีไม่น้อย สำหรับใครที่หามาปลูกไม่ได้ปัจจุบันมีกระชายดำแปรรูปให้เลือกซื้อ ลองจิบชากระชายดำบ่อยๆ รับรองกลับมากระชุ่มกระชวยเสมือนวัยรุ่นอีกครั้งแน่นอนค่ะ


ที่มา...https://sukkaphap-d.com/
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น