ผอ.รพ. เตือนโรคไบโพลาร์ อารมณ์ขึ้น-ลงต้องรีบรักษา ไบโพลาร์เป็นอาการทางอารมณ์ ไม่ใช่อาการทางจิต

Advertisements

ผอ.รพ. เตือนโรคไบโพลาร์ อารมณ์ขึ้น-ลงต้องรีบรักษา ไบโพลาร์เป็นอาการทางอารมณ์ ไม่ใช่อาการทางจิต

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่ใช่โรคทางจิต

สาเหตุเนื่องจากประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของอารมณ์ทั่วไป ไม่ใช่การป่วย

นพ.กิตต์กวีกล่าวว่า สาเหตุหลักของโรคไบโพลาร์ เกิดมาจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ทำให้มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนคนนั้น

ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้ที่ต่างจากโรคอื่นๆ คือจะมีอารมณ์ 2 ขั้ว คือขั้วของอารมณ์ดีครื้นเครงมากกว่าปกติ เช่น จะพูดมาก ขยัน มีความคิดฟุ้งเฟื่อง

ส่วนขั้วของอารมณ์เศร้าซึม จะมีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร อาการจะเกิดขึ้นเองสลับกันเป็นช่วงๆ เหมือนกับการนั่งรถไฟเหาะ แต่ละช่วงจะเป็นอยู่ทั้งวัน นานเป็นอาทิตย์หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลตัวเอง การทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ

โดยอาการในขั้วเศร้านั้นจะเกิดอย่างช้าๆ ส่วนขั้วของอารมณ์ดี ครื้นเครงมักจะเป็นเร็วมาก จึงทำให้ผู้ป่วยเองหรือคนใกล้ชิดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นการแสร้งทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ ไม่ใช่การเจ็บป่วย ทำให้ส่วนใหญ่จึงไม่ได้เข้ารักษาตัว

ขอแนะนำให้ผู้ที่มีลักษณะอาการที่กล่าวมาอย่านิ่งนอนใจ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

เนื่องจากโรคนี้มียาที่มีประสิทธิภาพสูงรักษา ได้ผลดีมาก ยาจะควบคุมการทำงานของสารเคมีในสมองให้อยู่ในสภาวะสมดุล โรคหายขาดได้ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิต เช่นเรียนหนังสือ ทำงานได้ตามปกติทั่วไป มีบางรายอาจต้องทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเพิ่มเติมบ้าง ใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน-2 ปี แต่หากไม่รักษาจะทำให้อาการลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเกิดอาการหลงผิด มีความคิดฆ่าตัวตายได้


นพ.กิตต์กวีกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเอื้อให้ผู้ป่วยโรค ไบโพลาร์หายป่วย คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน และครอบครัวมีส่วนสำคัญมาก ต้องอยู่กับผู้ป่วยอย่างเข้าใจว่าพฤติกรรมและอารมณ์ที่ผิดปกติเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยแท้จริงของผู้ป่วย และต้องรักษา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นควรให้กำลังใจให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โดยสิ่งที่ครอบครัวไม่ควรทำเนื่องจากจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง มี 4 ประการ คือ 1.ใช้อารมณ์กับ ผู้ป่วย 2.ขัดแย้งกับผู้ป่วย 3.พยายามควบคุมหรือจัดการกับชีวิตผู้ป่วย และ 4.ไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วย คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง หากมีอาการผิดปกติคือ มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนมากเกินไป หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เอะอะอาละวาด หวาดระแวง หรือมีปัญหากับคนรอบข้าง ต้องรีบพาผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที

สำหรับตัวผู้ป่วยเองก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด คือ ห้ามเสพสารเสพติด ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้อาการดีขึ้นแล้วต้องกินยาต่อเนื่องจนครบตามแผนรักษา ห้ามหยุดยาหรือลดยาเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้อาการกลับมาเป็นซ้ำอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ ประชาชนควรออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งมี ผลดีทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข หรือสาร เอนโดรฟิน จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายความเครียด และหลับสนิทขึ้น




ที่มา ข่าวสด
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น