เช็คเลย คุณกำลังเป็น’โรคกลัวสังคม’ หรือไม่? อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายป่วย

Advertisements

เช็คเลย คุณกำลังเป็น’โรคกลัวสังคม’ หรือไม่? อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายป่วย

โรคกลัวสังคม อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายป่วย

เป็นอาการป่วยประเภทหนึ่งซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะในด้านหน้าที่การงาน เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมองของตนเอง แต่ปัญหาของโรคคือผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ว่าตนเองป่วย หรือบางรายไม่เข้าใจและยังสับสนระหว่างความประหม่าธรรมดากับโรคกลัวสังคม ทำให้ไม่มีการดูแลตนเองที่ถูกต้อง

โรคกลัวสังคม คืออะไร?

โรคกลัวสังคม หรือที่เรียกว่า Social anxiety disorder คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการประหม่า รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด กังวลใจ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อาจมีผู้อื่นสังเกตจ้องมองตนเอง เช่น การพูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ หรือนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เป็นต้น โดยมีอาการแสดงคือเมื่ออยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว มักใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อออกมาก อันเกิดจากความตื่นเต้นและความกังวลที่เกิดขึ้นในจิตใจ

ทั้งนี้ความตื่นเต้นที่เกิดขึ้น บางครั้งเป็นเรื่องธรรมดา ที่ทุกคนสามารถเจอได้ ไม่เฉพาะกับผู้ป่วยด้วยโรคกลัวสังคมเท่านั้น ความตื่นเต้นธรรมดามักเกิดเป็นครั้งคราว แต่สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวสังคม จะมีอาการทุกครั้งที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ

แบบไหนถึงเรียกว่าเป็นโรคกลัวสังคม

การพิจารณาว่าป่วยหรือไม่นั้น ให้สังเกตว่ามีอาการประหม่าทุกครั้งที่ต้องอยู่ในสถานการณ์นั้นๆหรือไม่ หากในกรณีที่ต้องทำกิจกรรมบางอย่างในที่สาธารณะ หรือมีคนจำนวนมากจ้องมอง เช่น ขึ้นเวทีเพื่อพูดนำเสนอบางอย่าง ในคนปกติอาจมีความประหม่าในครั้งแรกที่ต้องทำ แต่เมื่อผ่านการฝึกฝน ซักซ้อม ก็สามารถก้าวผ่านไปได้ และไม่ได้เป็นทุกครั้งที่ต้องขึ้นเวที แต่จะเป็นเพียงบางครั้ง เช่น พิธีกร อาจเป็นเฉพาะเวลาที่ต้องพูดในงานที่มีคนเยอะมาก ๆ แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่หากต้องพูดในเวทีเล็ก ๆ ที่เคยเจอมาแล้วจะไม่มีอาการอะไร แบบนั้นถือเป็นความประหม่าปกติที่เกิดขึ้น ไม่ใช่โรคกลัวสังคม

แต่ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลัวสังคม จะมีอาการทุกครั้งที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย สถานการณ์ที่มีคนจ้องมองเยอะ หรือสถานการณ์ที่ต้องทำบางอย่างในที่สาธารณะ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกลัวสังคม ยังมีอาการประหม่าเมื่อต้องสนทนากับคนที่ไม่คุ้นเคย แม้จะเป็นการสนทนาแบบสองต่อสอง มักมีความอึดอัด ไม่สบายใจ กังวลว่าคู่สนทนาจะสังเกตเห็นท่าทีที่ดูไม่ดีหรือน่าอับอายของตนเองตลอดเวลา และไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ ผู้ป่วยจะพยายามเลี้ยงสถานการณ์นั้นๆ หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็จะทุกข์ทรมานมาก โดยระยะเวลาของอาการป่วยมักเป็นต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป

คนขี้อาย และ ผู้ป่วยโรคกลัวสังคมนั้นต่างกันอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคกลัวสังคมจะแตกต่างกับคนขี้อาย โดยคนขี้อายจะมีอาการไม่มากเท่ากับผู้ป่วยโรคกลัวสังคม บางครั้งอาจมีอาการและบางครั้งอาจไม่มี ไม่ได้มีอาการตลอดเวลา เหมือนกับผู้ป่วยโรคกลัวสังคม และคนขี้อายมักมีอาการในสถานการณ์สำคัญหรือในสถานการณ์ที่มีคนที่เขาแคร์มากอยู่ด้วย

สาเหตุของการเกิดโรคกลัวสังคม
ที่พบบ่อยคือบุคคลที่ป่วยด้วยโรคนี้มักเคยเจอกับสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกแย่ จนกลายเป็นความฝังใจ เช่น กรณีของผู้ป่วยรายหนึ่งที่เดิมทีไม่ได้ป่วยเป็นโรคกลัวสังคม แต่เมื่อถึงอายุ 16 ปี เริ่มโดนเพื่อนแกล้ง และเมื่อต้องพูดหน้าชั้นเรียน กลับไม่มีใครฟัง ไม่มีใครสนใจ เพื่อนในห้องคุยกันเอง หัวเราะกันเอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่มากกับเหตุการณ์นั้น และกลายเป็นความกลัว จากนั้นจึงมีความกังวลที่จะต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมากมาตลอด ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับการประเมินของผู้อื่นต่อตนเองค่อนข้างมาก น้อยคนที่จะเริ่มต้นเป็นในช่วงวัยผู้ใหญ่ ส่วนในวัยเด็กสามารถเจอได้เช่นกัน

ผลกระทบของโรคกลัวสังคม
ส่วนมากมักส่งผลต่อหน้าที่การงานโดยตรง เพราะผู้ป่วยมักหลีกเลี่ยงการนำเสนอผลงาน บางรายยังยอมให้ผู้อื่นเป็นผู้นำเสนอผลงานของตนเอง ทำให้สูญเสียความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน บางคนอาจหลีกเลี่ยงการพบผู้คน ไม่ค่อยเข้าสังคม

การรักษาโรคกลัวสังคม
สาเหตุของโรคที่สำคัญเกิดจากความคิดของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้พวกเขาประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมองไม่ดี กลัวดูไม่ดีในสายตาคนอื่น กลัวถูกจับจ้อง ซึ่งหลายครั้งเป็นการคิดไปเองของผู้ป่วย เพราะในความเป็นจริง ผู้อื่นอาจไม่ได้สนใจผู้ป่วยเลยก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนที่ความคิดของผู้ป่วยเอง เพื่อประเมินตนเองให้น้อยลง เช่น การพูดหน้าชั้นเรียน ผู้ป่วยมักประเมินไปก่อนล่วงหน้าแล้วว่า ตนเองพูดน่าเบื่อ ไม่น่าฟัง พูดติดขัด บุคลิกภาพไม่ดี ทำให้ขณะที่ต้องพูดมีความกังวลและอึดอัด จึงต้องแก้ไขโดยการประเมินตนเองให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการคิดไปเองว่าผู้อื่นจะต้องสนใจหรือจับผิด

นอกจากนี้กำลังใจจากคนรอบข้างสำคัญมาก หากผู้ป่วยเจอคำพูดกดดัน เช่น ทำไมทำไม่ได้ แค่นี้เองต้องทำได้สิ เป็นต้น จะทำให้อาการป่วยยิ่งแย่ลง แต่ถ้าเป็นคำพูดให้กำลังใจ จะช่วยผู้ป่วยได้มาก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.med.mahidol.ac.th
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น