น้ำเต้า ผักสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น ยอด-ผลอ่อนกินกับน้ำพริก ดีต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและโรคหัวใจ
Advertisements
น้ำเต้า ผักสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น ยอด-ผลอ่อนกินกับน้ำพริก ดีต่อสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและโรคหัวใจ
น้ำเต้า (Bottle gourd) ผักสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ เป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียว มีหลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าทรงเซียน นิยมทำเป็นเครื่องประดับ น้ำเต้าขมไม่นิยมปลูกหาได้ยาก ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อทำเป็นยาเท่านั้น โดยผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด
น้ำเต้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะน้ำเต้า (ภาคเหนือ), คิลูส่า คูลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลุ้นออก แผละลุนอ้อก (ลั้วะ), Dudhi Lauki (อินเดีย), หมากน้ำ, น้ำโต่น เป็นต้น
น้ำเต้า มีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง ในประเทศจีนมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน สรรพคุณเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและชราภาพ ส่วนชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรับประทาน
ประโยชน์ของน้ำเต้า
ใบอ่อนใช้รับประทานได้ ยอดอ่อนใช้ทำแกงส้มกับปลาเนื้ออ่อนหรือกุ้งสด มีรสชาติอร่อยมาก ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาจะรับประทานใบน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่ง หรือใช้ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้รับประทาน ส่วนใบแห้งเก็บไว้เป็นเสบียงเมื่อยามจำเป็น
ผลใช้รับประทานได้ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยผลน้ำเต้าที่นำมาประกอบอาหารก็คือผลอ่อนที่เปลือกและเมล็ดยังไม่แข็ง เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด อีกทั้งผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีน้ำอยู่มาก ทำให้เนื้อน้ำเต้ามีความอ่อนนุ่ม (อาจใกล้เคียงกับบวบแต่มากกว่าฟักและมะระ) ซึ่งน้ำเต้าที่ชาวไทยนิยมนำมารับประทานจะเป็นน้ำเต้าพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาว ตรงขั้วอาจจะป่องออกเป็นคอคอดหรือไม่ป่องก็มี โดยพันธุ์ที่ปลูกไว้รับประทานนั้น เปลือกจะมีสีเขียวอ่อนและบางกว่าพันธุ์อื่น ๆ
โดยอาจนำผลมาต้มหรือนึ่งรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาจทำไปทำแกง แกงเลียง แกงอ่อม แกงส้ม แกงหน่อไม้ แกงเผ็ดน้ำเต้าอ่อน ผัดพริก ฟักน้ำเต้าเห็ดหอม ผัดน้ำมัน น้ำเต้าผัดกับหมูใส่ไข่ หรือต้มเป็นผักจิ้ม ฯลฯ (ไม่ควรต้มหรือผัดนานเพราะจะทำให้เละได้) นอกจากนี้ยังนำผลมาเชื่อมเป็นของหวานได้อีกด้วย
ส่วนชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้านำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ในอเมริกาจะนำเนื้อผลอ่อนมานึ่งผัดในกระทะ ชุบแป้งท้อง ต้มสตูว์ หรือใช้ใส่ในแกงจืด ด้วยการเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก ส่วนแผ่นน้ำเต้าตากแห้งก็นำมาชุบกับซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี ในทวีปแอฟริกาจะใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร บ้างว่าใช้เมล็ดนำมาตากให้แห้ง แล้วคั่วกินเป็นของว่าง
สรรพคุณของน้ำเต้า
รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)
น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)
น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)
ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)
น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)
ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)
ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)
เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)
ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล, โคนขั้วผล)
น้ำคั้นจากผลมีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)
ใบอ่อน ผล และเนื้อในผลใช้รับประทานได้ โดยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ, ผล, เนื้อในผล)
ผลมีรสเย็น ช่วยขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รักษาท่อปัสสาวะอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก (ผล) ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ใบ)
แพทย์แผนไทยจะใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้ (ราก)
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน https://medthai.com/
Advertisements
Post a Comment