ผลไม้ป่าคล้ายมังคุด หาทานยาก ลูกสีเหลือง-ชมพู วิจัยพบ มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แก้ท้องเสีย

Advertisements

ผลไม้ป่าคล้ายมังคุด หาทานยาก ลูกสีเหลือง-ชมพู วิจัยพบ มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แก้ท้องเสีย

พะวา ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia celebica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Garcinia speciosa Wall.) จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)[1],[2] มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะป่อง (ภาคเหนือ), สารภีป่า (ภาคกลาง, เชียงใหม่), มะระขี้นก มะดะขี้นก (เชียงใหม่), ขวาด (เชียงราย), กวักไหม หมากกวัก (หนองคาย), ชะม่วง (พิจิตร), วาน้ำ (ตรัง), กะวา พะยา (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1]

พะวา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับมังคุด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า และเกาะนิโคบาร์ ส่วนในประเทศไทย สามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาค ซึ่งมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าดิบชื้นที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลในระดับปานกลางไปจนถึงประมาณ 700 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น

มีลักษณะเปลาตรง เปลือกลำต้นบาง มีสีเทาอมดำ แตกกิ่งก้านสาขาและใบหนาทึบเป็นทรงพุ่มรูปโดม มีขนาดความสูงของลำต้นประมาณ 10-18 เมตร ส่วนของลำต้น ใบ และผลมียางสีขาวอมเหลือง

ใบ

ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปทรงรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมขอบขนาน แผ่นใบเรียบค่อนข้างหนา มีสีเขียวเข้มเป็นมัน โคนใบสอบ ปลายใบแหลมหรือมนกว้าง ขอบใบเรียบ มีขนาดความกว้างของใบประมาณ 4-8 ซม. ยาวประมาณ 8-15 ซม. แตกใบดกและหนาทึบ

ดอก

ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีสีเหลืองอ่อนและหนาจำนวน 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ มีเกสรเพศผู้อยู่บริเวณกลางดอกเป็นจำนวนมาก ขนาดดอกที่บานเต็มที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. และร่วงโรยไปภายใน 1-2 วัน ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ลักษณะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่กลีบดอกจะยาวกว่า มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงสีเหลืองจำนวน 4 กลีบ มีเกสรเพศเมียอยู่บริเวณกลางดอกซึ่งจะพัฒนาเป็นผลต่อไป เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเท่ากับดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียมักร่วงโรยไปภายในเวลา 1 วัน เริ่มให้ดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม และในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ดอกมีกลิ่นหอม

ผล

มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่ ผิวผลเรียบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลประมาณ 1-2 ซม. ยาวประมาณ 1.5-3 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดงเมื่อสุก บนขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในผลมีเนื้อเป็นกลีบคล้ายกับมังคุดแต่จะมีความใสกว่า เนื้อผลมีรสฝาดเปรี้ยว สามารถรับประทานได้ เริ่มติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนและในฤดูฝน

เมล็ด



มีลักษณะแบนยาวเป็นสีน้ำตาล

การขยายพันธุ์

ทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ซึ่งใน 1 เมล็ด สามารถงอกเป็นต้นกล้าได้ประมาณ 4-10 ต้น หรือนำมาตัดแบ่งเพื่อนำไปเพาะได้ประมาณ 1-4 ส่วน ต้นพะวา เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน ต้องการความชื้นสูง

สรรพคุณทางยาของพะวา

1.ดอกมีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร ด้วยการใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)

2.ช่วยรักษาลมและโลหิตพิการ ด้วยการใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)

3.ใช้ดอกแห้งพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[1] ส่วนน้ำต้มจากเปลือกต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น, ใบ)

4.น้ำต้มจากเปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ช่วยรักษาแผลในปาก (เปลือกต้น, ใบ)

5.เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกผล)

6.ใช้ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบ) ส่วนผลมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาระบายได้เช่นกัน (ผล)





ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพะวา

เปลือกเมื่อนำมาสกัดและแยกสารสกัดที่ได้ให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโตกราฟีและการตกผลึก จนได้สาร 4 ประเภท คือ benzophenones, biphenyls, triterpenes และ xanthones ซึ่งเมื่อนำสาร biphenyls และ triterpenes บริสุทธิ์มาวิเคราะห์หาโครงสร้างทางเคมี และเมื่อนำไปทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพก็พบว่า สารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอดส์ได้ทั้งในระดับเซลล์และในระดับโมเลกุลได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งและช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี สารดังกล่าวยังต้องนำไปทดลองทางคลินิกเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่งเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาต่อไป (น.ส.ปานฤทัย ภัยลี้ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)




ประโยชน์

1. เนื้อไม้-มีสีน้ำตาลแดง เสี้ยนไม้ละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี

2. ผลสุก-มีรสฝาดเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก และอาจทำให้ท้องเสียได้หากรับประทานมากจนเกินไป


ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai , vichakaset และ Tnews
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : ผู้ใช้เฟซบุ๊กคุณ "ชัญญานุช สำราญ"
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น