เผยคาถาศักดิ์สิทธิ์ พระครูบาบุญชุ่ม สวดแล้วช่วยแคล้วคลาดปลอดภัย
Advertisements
เผยคาถาศักดิ์สิทธิ์ พระครูบาบุญชุ่ม สวดแล้วช่วยแคล้วคลาดปลอดภัย
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงก่อนหน้าที่ทางทีมซีลและทีมกู้ภัยจะได้พบตัวน้อง ๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน หนึ่งในผู้ที่เป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้านรวมไปถึงผู้ปกครองอีกท่าน เห็นจะได้แก่ “ครูบาบุญชุ่ม” เกจิแห่งล้านนาอีกท่านนั่นเอง ใครที่ยังไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับท่าน และคาถาศักดิ์สิทธิ์ของท่านกันค่ะ
คาถาแคล้วคลาด พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
“นะ มะ อะ อุ นะโมพุทธายะ นะ มะ พะ ธะ ยะ นะชาลิติ”
ชาติภูมิ
บิดา-มารดา : พ่อคำหล้า แม่แสงหล้า ทาแกง
นามเดิม : เด็กชายบุญชุ่ม ทาแกง
วันเดือนปีเกิด : วันอังคารที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔
สถานที่เกิด : หมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
พี่น้อง
๑. พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
๒. พระครูบาวีนัส กตปุญโญ
๓. เด็กหญิงเอื้องฟ้า (เสียชีวิต)
๔. นางอ้อมใจ ปูอุตรี สมรสกับนายประทีบ ปูอุตรี
ชีวิตในวัยเยาว์
คุณแม่แสงหล้าได้แต่งงานกับคุณพ่อคำหล้า ก่อนตั้งครรภ์พระครูบาเจ้าฯ คุณแม่แสงหล้านิมิตฝันว่า “ได้ขึ้นภูเขาไปไหว้พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่เหลืองอร่ามงามมากนัก” แล้วสะดุ้งตื่นอยู่มาไม่นานนัก คุณแม่แสงหล้าเริ่มตั้งครรภ์ พอตั้งครรภ์ได้ครบ ๑๐ เดือน ก็ได้ให้กำเนิดเด็กชายบุญชุ่ม ซึ่งเป็นเด็กหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู จากนั้นก็มีเหตุแยกจากพ่อคำหล้ากลับไปดูแลแม่อุ้ยนางหลวงที่เคยอยู่ด้วยกัน เพราะไม่มีใครดูแล ส่วนพ่อคำหล้าก็กลับไปดูแลแม่หลวงอุ่น จึงเป็นเหตุให้ต้องแยกกันอยู่ เมื่ออายุครบ ๖ เดือน พ่อคำหล้าได้มาเยี่ยม ซื้อเสื้อผ้ามาฝากลูกด้วย แต่กลับไปไม่นาน คุณพ่อก็ได้ล้มป่วยด้วยโรคบิดกระทันหัน ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี เท่านั้น เมื่อพระครูบาฯ อายุได้ ๔ ขวบ แม่อุ้ยนางหลวงและคุณแม่แสงหล้าได้ย้ายจากบ้านด้ายไปอยู่บ้านทาดอนชัย ตำบลป่าสักอำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ และสมรสใหม่กับนายสม ชัยวงศ์คำ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า เด็กชายวีนัส (แดง) และบุตรหญิง ๒ คน คือเด็กหญิงเอื้องฟ้า ถูกสุนัขกัดตาย เมื่ออายุได้ ๔ ขวบ และเด็กหญิงอ้อมใจ เมื่อแม่อุ้ยนางหลวงได้ถึงแก่กรรมไป ครอบครัวของเด็กชายบุญชุ่ม ยิ่งลำบากมากกว่าเก่า บ้านก็ถูกรื้อขาย แล้วอพยพไปอยู่เชิงดอยม่อนเรียบ ทำกระต๊อบน้อยอยู่กัน ๔-๕ คน แม่ลูก ฝาเรือนก็ไม่มี เวลาฝนตกหลังคาก็รั่ว เอามุ้งขาดเป็นเรือน ผ้าห่มก็มีผืนเดียวเวลาหน้าหนาวก็หนาวเหน็บ ต้องนอนผิงไฟเหมือนสุนัขผ้านุ่งผ้าห่มเสื้อกางเกงก็มีชุดเดียวเวลาไป โรงเรียนก็นุ่งกางเกงขาสั้นไป เรื่องอาหารก็ตามมีตามได้ เก็บกินเต้าแตง เผือกมัน ผักผลไม้กิน เพื่อยังชีพไปวันๆ บางทีแม่แสงหล้าก็ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวและปลูกหอม กระเทียม ได้ข้าวมาเลี้ยงกัน วันละลิตร สองลิตร ก็เอามาหุงต้มเลี้ยงกัน วันไหนข้าวมีน้อย ก็เอาต้มใส่เผือกใส่มัน บางครั้งก็ได้กินหัวกลอยต่างแทนข้าว บางครั้งได้กินข้าวกับพริกกับเกลือบ้าง บางทีแม่แสงหล้า ไม่สบายไปรับจ้างไม่ได้ พระครูบาเจ้าบุญชุ่มและน้องๆ ก็เที่ยวขอทาน ห่อข้าว ตามหมู่บ้านมาเลี้ยงดูกัน บางวันก็ได้มากบ้างน้อยบ้าง พอประทังชีวิต บางคนก็ด่าว่าตางๆ นานา บางคนก็ดีใจ บางคนก็ทุบต่อยตีไล่หมาใส่ ท่านก็ไม่ถือสาโกรธแค้น ส่วนพ่อเลี้ยงก็ไม่สบายเป็นโรคบวมพองทำงานไม่ได้ พระครูบาบุญชุ่มบางทีก็ต้องเก็บใบตองไปแลกข้าวบางทีก็หาฟืนไปขาย บางวันก็ไปรับจ้างเก็บถั่วลิสง ได้เงินมา ๑ บาท ๒ บาท ก็เอาไปซื้อข้าว น้ำมันและพริก เกลือมาเลี้ยงครอบครัวถึงแม้ชีวิตท่านจะลำบากเพียงใดก็ไม่เคยเป็นเด็กเกเร ลักเล็กขโมยน้อยเด็ดขาย แม่แสงหล้าจะสอนว่า “ห้ามลักขโมยของคนอื่นมาโดยเด็ดขาด” วันหน้าถ้ามีบุญก็จะสบายได้แล บางวันน้องซนไม่มีใครดูแลพระครูบาเจ้าบุญชุ่มก็ฉีกเอาชายผ้าถุงของแม่ผูกขา น้องๆ ติดกับเสาบ้านเสาเรือนไว้ แล้วก็เที่ยวขอทานมาเลี้ยงแม่เลี้ยงน้อง
เห็นทุกข์ก็เห็นธรรม
ชีวิตความเป็นอยู่ของพระครูบาเจ้าฯ ช่างน่าสังเวช ทุกข์ลำบากเหมือนกับว่า ในโลกนี้บ่มีใครเท่าเทียมได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์และสุขก็เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนลำบากไม่ใช่ตัวตนของเราบังคับไม่ได้ พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว พึงจะเบื่อหน่ายการเกิด การตาย ทุกข์ในวัฏฏะสงสารพึงสละละวางความยึดมั่น ถือมั่น พึงคลาย ความอาลัยในตัณหาตัวนำมาเกิด พึงละอวิชชา ความไม่รู้นำมาเกิดภพชาติ ชรามรณะทุกข์ เวียนว่าย ตายเกิด หาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายบ่มิได้พึงสังเวชเบื่อหน่ายโลกาอามิสทั้งปวงพึง มีจิตยินดีในพระนิพพานเป็นอารมณ์ รีบขวนขวายหาทางดับทุกข์ ความเกิดแก่เจ็บตาย จงสร้างแต่กุศลบุญทาน รักษาศีลภาวนา อย่าขาด อย่าประมาทในชีวิตสังขารไม่ยั่งยืน ไม่รู้ว่าเราจะตายวันใด ที่ไหน เวลาใด ใครไม่สามารถกำหนดได้ ขอให้ทุกคน เราท่านทั้งหลายจงทำดีให้หนีวัฏฏะสงสารไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเพราะการเกิด บ่อยๆ เป็นทุกข์ดังนี้แล
อุปนิสัยฝักใฝ่ในธรรมของพระครูบาเจ้าฯ
เนื่องจากคุณแม่แสงหล้าเป็นคนมีนิสัยใจดีมีเมตตาเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีลูกเต้า ญาติมิตรพี่ๆ น้องๆ เป็นผู้รู้จักบุญคุณเสมอชอบทำบุญไปวัดไม่ขาด ถึงแม้ว่าความเป็นอยู่จะลำบากยากจนขนาดไหน พอถึงวันพระแม่จะจัดหาอาหารตามมีตามได้ไปใส่บาตรทุกครั้ง ก่อนที่คุณยายของพระครูบาเจ้าฯ คือยายแม่อุ้ยนางหลวง ยังไม่เสียชีวิต ดังนั้นเมื่อพระครูบาเจ้าฯ อายุได้ ๔-๕ ปี ก็พาไปนอนวัดปฏิบัติธรรมด้วย ยายสอนว่าให้ไหว้พระสวดมนต์ และภาวนาพุทโธฯ ตั้งแต่เล็กได้คลุกคลีอยู่กับวัดตั้งแต่ตัวน้อยๆ เวลาเข้าโรงเรียนฯ ก็ติดกับวัดเวลาว่างก็ชอบเขาไปไหว้พระในวิหาร บางทีก็ภาวนาตามร่มไม้ ทำอยู่อย่างนี้ตลอดเท่าที่ท่านจำความได้ พระครูบาเจ้าฯ ไม่ชอบทานเนื้อสัตว์มาตั้งแต่เกิด ถ้าจำเป็นต้องท่านก็เอาคำข้าวจิ้มแต่น้ำแกง บางทีก็ทานข้าวเปล่าๆ บางทีก็ทานกับน้ำอ้อย บางทีก็ทานข้าวกับกล้วยไปวันๆ คุณแม่แสงหล้ารักเอ็นดูพระครูบาเจ้าฯ เป็นอย่างยิ่งไม่เคยด่าเคยตีด้วยไม้หรือฝ่ามือแม่แต่ครั้งเดียวในชีวิต
แม้การดำเนินชีวิตของท่านได้รับความลำบากทุกข์ยากต่างๆ แต่กลับทำให้พระครูบาเจ้าฯ มีความเข้มแข็ง อดทน เป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ดังในช่วงที่ท่านอยู่กับลุงน้อยจันตา มีลูกเลี้ยงของลุงเป็นคนเชื้อสายเขมร รังแก บังคับ ตีต่อย ให้ทำงานหนัก แต่ท่านก็ไม่ถือสาหาความ เพราะท่านผ่านความทุกข์ใหญ่หลวงมามากแล้ว เรื่องแค่นี้ท่านมีความเข้มแข็ง ผ่านพ้นไปได้และมีอยู่วันหนึ่ง หลังจากหยุดพักจากงานและนั่งพักผ่อน ท่านมีนิสัยที่ชอบชุ่มชื่นรื่นเริงจึงขับร้องเล่นซอเมืองเหนืออย่างสบาย อารมณ์ คนงานในบ้านก็โกรธท่านหาว่าเกียจคร้าน เอาก้อนดินใหญ่มาขว้างปาใส่หัวจนเจ็บและมึนงงไปหมด เกือบสลบ แต่ท่านก็ไม่บอกเรื่องที่ถูกคนใช้ทำร้ายให้กับคุณลุง คุณป้า เพราะกลัวคนทำจะเดือดร้อนถูกไล่ออก
ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้บวชเรียนตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่เยาว์วัย ถึงเวลาท่านก็กำหนดขอขมาลุงและป้าแทนพ่อแม่ แล้วจึงอาบน้ำและนุ่งผ้าขาวในคืนหนึ่ง พอใกล้รุ่งท่านนิมิตเห็นหลวงพ่อปู่องค์หนึ่งแก่ๆ ผมหงอกสักไม้เท้าจากต้นโพธิ์ใหญ่ที่ในวัดเดินเข้ามาห่านแล้วสอนธรรม กัมมัฏฐานให้ภาวนาว่า พุทโธๆและบอกว่าให้หมั่นภาวนาในภายหน้าจะได้เป็นครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งของ คนทั่วไปและมนุษย์โลกทั้งหลาย แล้วท่านครูบาเฒ่าก็เดินลับหายไป พอสว่างก็ได้ไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบุญยืน ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีพระครูหิรัญเขตคณารักษ์ วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่จัน เจ้าคณะอำเภอเชียงแสนเป็นองค์พระอุปัชฌาย์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ตรงกับเดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ วันพฤหัสฯ เวลา ๙.๓๙ น. ได้บวชเสร็จเรียบร้อย มีสามเณรที่บรรพชารวมกันทั้งตำบลสามสิบสองรูป ปัจจุบันเหลือพระครูบาฯเจ้าองค์เดียว
ถึงแม่ว่าท่านต้องทำงานหนัก แต่ในเรื่องการเรียนหนังสือท่านก็เอาใจใส่ ศึกษาหาความรู้ จนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ ด้วยตั้งใจไว้ว่าถ้าหากเรียนจบแล้วจะบรรพชาเป็นสามเณรทันที กระทั่งเมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรอายุ ๑๑ ปี ได้เข้าศึกษานักธรรมสอบได้นักธรรมชั้นตรี ใน พ.ศ. ๒๕๒๖
สามเณรน้อยใจสิงห์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เข้ามาเป็นเด็กวัด โดยมีพ่อลุงทาเอาไปฝากกับเจ้าอธิการสิน จิรธัมโม วัดบ้านด้ายตอนท่านอายุได้ ๑๑ ปี หลังจากเป็นเด็กวัดได้ 3 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านชอบสงบอยากบวชตั้งแต่อายุ ๔-๕ ปีแล้ว ในสมัยเป็นเด็กนักเรียนชอบนั่งสมาธิภาวนาไม่สุงสิงกับใคร เวลาว่างก็เดินจงกรมที่สนามหญ้าโรงเรียน จนเพื่อนฝูงว่าท่านเป็นบ้า ใครจะว่าอย่างไรไม่สนใจ ท่านถือว่าได้ปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าชีวิตในวัยเยาว์ของพระครูบาเจ้าฯ จะทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านก็เป็นเสมือนเพชรในตม คือจิตใจของท่านที่ได้รับการปลูกฝังคุณงามความดีอยู่เสมอ ทั้งจากคุณยายและจากคุณแม่ จากการคลุกคลีอยู่กับวัด กับพระสงฆ์ จึงทำให้จิตใจของเด็กน้อยรู้สึกผูกพันกับบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ถูกสั่งสอนให้ขยันหมั่นเรียนเขียนอ่าน และสอนให้หมั่นเพียรทำงานทุกอย่าง แม่แสงหล้าจะใช้ไปซื้อของในตลาด บางทีมีเงินบาทเดียวได้ของมาสี่อย่าง ซื้อพริก ๑ สลึง เกลือ ๑ สลึง น้ำมัน ๑ สลึง เมี้ยง ๑ สลึง เป็นต้น เพราะเงินสมัยนั้นมีค่าข้าวสารลิตรละ ๑ บาท ก็พอกินไป ๒ วัน เท่าที่จำได้ตอนโตมาแล้วบางทีโรคลมของคุณแม่กำเริบก็ว่าด่าต่างๆ ด้วยความลืมตัวบ้างเสร็จแล้วพอรู้สึกดีขึ้นคุณแม่จะมาขอขมาลาโทษทุกครั้ง โดยการผูกข้อมือรับขวัญให้ทุกครั้ง
การเดินทางของชีวิตฆราวาส
เมื่อช่วงวัยเด็ก เคยป่วยด้วยพิษไข้มาลาเรีย เกือบเอาชีวิตไม่รอด เป็นช่วงเดียวกับพ่อเลี้ยงก็ป่วยหนักเช่นกัน ตามความเชื่อของชาวเหนือ ถ้ามีคนป่วยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันต้องแยกกันอยู่ ดังนั้นคุณแม่แสงหล้าจึงนำไปฝากไว้กับญาติผู้ใหญ่ คือแม่คำ พ่อคำหล้า ส่วนน้องชาย ด.ช.วีนัสไปอยู่กับคุณป้า น้องสาวไปอยู่กับพ่อก๋อง แม่เพชร ช่วงนั้น ด.ช.บุญชุ่ม ได้พลัดพรากจากญาติพี่น้อง รู้สึกสะเทือนใจร้องไห้ตามประสาเด็กทั่วไป ที่ต้องแยกันอยู่ ด้วยท่านเป็นพี่ชายคนโต เคยดูแลเลี้ยงดูน้องๆแทนแม่เสมอ จึงทำให้รักและผูกพันต่อกันมาก
ครั้นเสร็จพิธีบรรพชาแล้วก็กลับมาวัดบ้านด้ายเข้ากรรมฐานภาวนา ๓ วัน เริ่มเรียนสวดมนต์ภาวนาทำกิจวัตรต่างๆ มีล้างบาตรล้างถ้วยล้างชามทำความสะอาดวัด ดายหญ้า ท่านทำทุกอย่างที่ทำได้ในวัด จำเป็นที่สุดคือ การเจริญภาวนา ท่านนอนองค์เดียว นอนในกุฏิที่เก็บกระดูกผีตายชอบอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ พอบวชเป็นสามเณรไม่นานเกือบ ๑ เดือน คนทั้งหลายก็เล่าลือกันว่ามีสามเณรน้อยต๋นบุญถือกำเนิดที่วัดบ้านด้ายธรรม ประสิทธ์ ศรัทธาสาธุชนทั้งหลายก็พากันมาทำบุญขอให้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้ สามเณรบุญชุ่มก็บอกว่า “เราบวชเป็นสามเณรใหม่ยังไม่รู้อะไรสักอย่างให้ตั้งจิตอธิษฐานกันเอาเองเถอะ บางคนก็ขอให้เทศน์สั่งสอน เราก็บอกว่ายังไม่รู้อะไรเลยให้หั่นไหว้พระทำบุญให้ทานรักษาศีลห้าข้อให้ดี และภาวนาพุทโธๆไปก็จะได้พ้นทุกข์”
อารมณ์กรรมฐานโดยพิจารณาอัฐิ
มีหลวงพ่อธุดงค์องค์หนึ่งอยู่อำเภอจุน จ.พะเยา ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้พระครูบาเจ้าฯ เมื่อท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว ได้น้อมจิตพิจารณาว่า กระดูกของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น นับตั้งแต่เวียนว่าย ตายเกิด ในวัฏฏสงสารนี้ หากนำมากองรวมกัน คงกองใหญ่เป็นภูเขาทีเดียว หากแยกกันก็กระจัดกระจายอย่างที่เห็น กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกเข่าไปอีกทางหนึ่ง กระดูกข้อเท้าไปทางอื่น กระดูกข้อนิ้วเท้าก็กระจัดกระจายไปทางอื่น กระดูกทุกส่วนแยกออกจากกันไปคนละที่คนละแห่ง แล้วก็ผุพังกลายเป็นดินเป็นจุลไป ท่านก็น้อมพิจารณาเข้ามาในกายแห่งตนว่า
“เอวงฺธมฺโม เอวงฺอนตฺติโต”
ยกกระดูกสามร้อยท่อนเป็นกรรมมัฏฐานให้เห็นชัดแจ้งในสังขารรูปนาม ร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ไม่ดีไม่งามเป็นอสุภะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ วิปัสสนาพิจารณาสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาไม่ใช่ของเขาสักอย่าง เห็นความเกิดความดับของรูปนามสังขารดังนี้แล้วก็ยกจิตขึ้นสู่ยถาภูตญาณทัศนะ เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงทุกอย่าง บังเกิดความเบื่อหน่ายในกองสังขารทุกข์ทั้งหลายอยากจะพ้นไปจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หาทางที่จะหลุดพ้นไปจากสังขารทั้งหลาย แล้ววางเฉยต่อสังขารทั้งหลายไม่ติดข้องยินดีในสังขารทั้งหลาย แล้วมองเห็นอริยะสัจจะธรรมทั้งสี่ให้เห็นแจ้งชัดว่านี้คือทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ได้ประสบพบสิ่งที่ไม่ได้รักก็เป็นทุกข์ได้ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ อยากได้อันใดไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ จึงพึงกำหนดรู้ทุกข์อย่างนี้แล้วให้รู้เหตุที่ให้เกิดทุกข์คือสมุทัยทำให้ เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ความอยากได้ทั้งสามคือ กามตัณหาในกามอารมณ์ทั้งหลาย ภาวะตัณหา ตัณหาในภาวะน้อยใหญ่ ความมีความเป็นทั้งหลาย วิภาวะตัณหา ตัณหาในความไม่อยากมีอยากเป็น ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหาทั้งสามนี้ เมื่อดับตัณหา ความอยากได้ก็ดับทุกข์ทั้งปวง ตัณหาขะยังสัพพะ ทุกขัง ชินาติ ดับตัณหาได้ชนะทุกข์ทั้งปวง แล้วก็มาพิจารณานิโรธ ความดับทุกข์วิราคะไม่ติดข้องด้วยราคะตัณหา ปราศจากไปแล้ว ปฏิสัคโค ความสลัดออกแห่งตัณหาทั้งหลาย นิโรธ ความดับสนิทไม่เหลือ อาจโย มีอาลัยขาดแล้ว วัฏฏะปัจเฉโต ตัดวัฏฏะทั้งสามขาดแล้ว คือกิเลสวัฏฏะ กรรมะวัฏฏะ วิปากวัฏฏะทั้งสามนี้แล นิโรโธติได้ชื่อว่าความดับทุกข์คือพระนิพพานแล้วให้พิจารณาด้วยปัญญาใน วิปัสสนาญาณต่อไป ถึงมรรค คือหนทางอันดับทุกข์ คือมรรคมีองค์แปด คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกับโป ความชอบดำริ
๓. สัมมาวาจา ความพูดวาจาชอบ
๔. สัมมากัมมันโต มีการงานอันชอบ
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายาโม มีความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ มีระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจชอบ
ดังนี้ได้ชื่อว่ามรรคมีองค์แปดคือเป็นหนทางอันประเสริฐไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ทางนี้เป็นทางให้ถึงซึ่งความดับแห่งกองทุกข์ในวัฏฏะทั้งหลาย เราพึงทำภาวนาให้รู้แจ้งแล้ว น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิดทั้งหลายอันเป็นปุถุชนอันแน่นหนาไปด้วยกิเลส แล้วน้อมจิตเข้าสู่โลกุตรภูมิแห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย แล้วมาพิจารณาดูมรรคธรรมที่เราได้บำเพ็ญมาตลอดสืบเนื่องติดต่อกันไม่ขาดสาย รู้ความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความจางคลายความกำหนดยินดีในสัพพนิมิตสังขารทั้งหลาย รู้ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความสลัดคืนในกองสังขารทั้งหลายหายใจเข้าออก อยู่น้อมจิตเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ตลอดจึงได้ชื่อว่าเจริญมรรคญาณ ต่อไปให้พิจารณาความดับทุกข์ทั้งหลายเป็นนิโรธญาณผละญาณ แล้วก็ถึง ปัจเจกขณาญาณ พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายเป็นมรรคะสมังคี คือว่าธรรมทั้งหลายมารวมลงกันในที่เดียวคือสติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละธรรมห้า โพชฌงค์เจ็ด อัฐฐังคิกะมรรคะทั้งแปดมาลงรวมกันที่เดียวได้ชื่อว่ามรรคสมังคี แล้วก็น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ให้แจ้งแล้วให้รู้แจ้งตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง แล้วก็มาพิจารณาดูว่าเราได้รู้แจ้งในธรรมหรือยัง ถ้าไม่รู้แจ้งตราบใดก็ละกิเลสไม่ได้ ถ้าตรัสรู้แจ้งแล้วกิเลสธรรมทั้งหลายก็ละได้เองโดยอัตโนมัติไม่ต้องสงสัยเลย ในมรรคผลนิพพานมีจริงทุกอย่างถ้าเราทำจริงต่อมรรคธรรมเราก็จะถึงความดับ ทุกข์ วันหนึ่งเราก็มาพิจารณาดูว่าเราละกิเลสได้เท่าใด เหลืออยู่เท่าใด ดูพระอริยะบ้างก็พิจารณาบ้าง พิจารณาว่ากิเลสมีเท่าใดตัดขาดเท่าใดสุดแล้วแต่บุญวาสนา ปัญญาของใครของมัน ท่านที่มีปัญญาแก่กล้าจึงจะพิจารณาได้ ถ้าบรรลุมรรคขั้นต้นก็มีการตัดกิเลสสังโยชน์ได้สามคือสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นเห็นผิดในกาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในธรรมดับไป สีลัพพัตปรามาสความถือศีลไม่มั่นคงลูบคลำศีลก็ดับไป ถ้าได้ถึงสกิทาคาก็กระทำให้ความโลภราคะ โทษะ โมหะ ส่วนที่หยาบๆดับไปถ้าได้ถึงอริยมรรค ที่สามคือพระอนาคามี คือผู้ไม่กลับมาอีก ก็ตัดกิเลสสังโยชน์ได้อีก สองคือกามราคะ ความยินดีในกามราคะดับอย่างสนิท ปฏิฆะความโกรธแค้นพยาบาท ดับสนิท ตรงกับคติธรรมคำสอนของท่านครูบาศรีวิชัยให้เป็นคติว่า อู้ร้อยคำบ่เท่าผ่อครั้งเดียว
พิธีอุปสมบท
พอถึงเดือนวิสาขะวันที่ ๑๑ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ โยมแม่แสงหล้าและพ่อน้อยใจมาและลูกศิษย์ทุกคนก็จัดพิธีอุปสมบทให้ในวัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พัทธสีมาในโบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อเชียงใหม่ มีคนคณะศรัทธามาร่วมเต็มวัด ทำให้ปลื้มปีติยินดีมาก ได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ตรงกับเดือน ๘ เหนือขึ้น ๑๑ ค่ำวัน เวลา ๙.๑๙ น. ในโบสถ์วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ พระราชพรหมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์อุปัชฌาย์ พระครูเวสุวันพิทักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระครูศรีปริยัตินุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระสงฆ์ร่วมหัตถบาทยี่สิบเก้าองค์ พระครูบาเจ้าบุญชุ่มได้ให้ศีลให้พรคุณแม่แสงหล้าและศรัทธาทั้งหลายแล้วก็ได้ไปเข้ากรรมภาวนาที่วัดอุโมงค์เชียงใหม่เจ็ดวัน แล้วได้กลับไปที่เมืองพงจำพรรษาที่วัดพระเจ้านอนบ้านทุ่งในปีนี้ คุณแม่แสงหล้าก็มาเข้าพรรษาถือศีลด้วย ท่านดีใจที่สุดได้อยู่ใกล้โยมแม่นำพาแม่ไหว้พระสวดมนต์ภาวนา ตอนอยู่ที่เนปาลนึกว่าจะไม่ได้เห็นหน้าโยมมารดาอีกแล้ว ท่านได้กลับมาดูแลแม่เหมือนในนิมิตบอกทุกอย่าง ได้ปลูกบ้านหลังน้อยๆ ให้คุณแม่อยู่ที่บ้านห้วยน้ำราก ได้สร้างเจดีย์พุทธรูปวิหารทุกอย่างก็ได้ลงชื่อคุณแม่แสงหล้าหมด หลังจากบวชเป็นพระได้สามพรรษา พ่อน้อยใจมา ชัยเผือกก็ถึงแก่กรรมไป ท่านและคุณแม่ก็จัดพิธีศพอย่างดี ทำบุญอุทิศให้ทุกอย่าง โยมแม่กลับมาอยู่บ้านหลังน้อย บ้านห้วยน้ำรากด้วยความผาสุข ท่านดูแลตามใจแม่ทุกอย่างเอาใจใส่ตลอด บางครั้งก็ชวนโยมแม่มาอยู่วัดถือศีลภาวนาในพรรษาบำเพ็ญกุศลภาวนาไม่ขาด คุณแม่เป็นห่วงท่าน และน้องๆทุกคน พระครูบาฯ มีน้ำใจกว้างขวางดูแลญาติพี่น้อง ใครมาขอให้ท่านช่วยเหลือท่านก็ให้เงินใช้จ่ายตามสมควร เวลาญาติพี่น้องมาวัดจะไม่มามือเปล่าจะเตรียมอาหารผักผลไม้มาทุกครั้งที่ขาดไม่ได้ก็คือยาหอมเป็นขวดของวัดโพธิ์กับมะนาวมาถวายท่านทุกครั้งบางทีก็ทำอาหารถวายผักกาดจอ น้ำพริกตาแดงทำถวายพระเณร คุณโยมแม่ใจบุญที่สุด เป็นห่วงท่านมากในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ท่านได้พาโยมแม่ไปกราบสังเวชนียสถานที่อินเดีย ท่านดีใจที่สุดในชีวิตได้ตอบบุญคุณท่านจนสุดยอด ได้พาไปกราบสถานที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปฐมเทศนาและที่ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าท่านเป็นอุตะมะบุตรผู้โปรดพระแม่มารดาโดยแท้ และปกติตลอดเวลาช่วงเข้าพรรษา ท่านจะไปบำเพ็ญศีลภาวนา ณ พุทธสถานสำคัญหลายแห่ง ได้สัมผัส “ธรรมนิมิต” มากมาย ระหว่างที่เป็นสามเณรและพระสงฆ์
ลำดับครูบาอาจารย์โดยตรง ของ พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
๑. หลวงปู่ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทราวตากผ้า จังหวัดลำพูน
๒. หลวงปู่ครูบาอินทจักร์ วัดวนาราม (น้ำบ่อหลวง) สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
๓. หลวงปู่ครูบาชัยวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน
๔. หลวงปู่ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
๕. หลวงปู่ครูบาน้อย วัดบ้านปง แม่แตง
๖. หลวงปู่ครูบาคำแสน วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
๗. หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (มหาวีระ ถาวโร)
๘. หลวงปู่หล้าตาทิพย์ วัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
๙. หลวงปู่ฤาษีธนะธัมโม วัดถ้ำผาแตก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
๑๐. หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร
๑๑. หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ วัดสะแก จ.อยุธยา
๑๒. พระครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน เป็นพระสหธรรมิก
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความดับทุกข์เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านได้ไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ส่วนมากไม่ได้มีโอกาสไปอยู่ด้วย
ครูบาอาจารย์ภาคอีสาน ที่ท่านได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์
๑. หลวงปู่นิล วัดครบุรี จ.นครราชสีมา
๒. หลวงปู่พุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา
๓. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
๔. หลวงพ่อแสวง วัดถ้ำพระ จ.สกลนคร
๕. หลวงปู่คูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
ขอบคุณที่มา : tnews และ http://doohomeidea.com/?p=1671
Advertisements
Post a Comment