คว่ำตายหงายเป็น พืชสมุนไพรกินได้ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ใบต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง

Advertisements

คว่ำตายหงายเป็น พืชสมุนไพรกินได้ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ใบต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง

คว่ำตายหงายเป็น พืชที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางสมุนไพร มีลักษณะลำต้นอวบน้ำ ใบเดี่ยว รูปไข่ โคนและปลายมน ขอบใบจักเป็นฟันตื้น ๆ เนื้อใบอวบหนา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีแดงและเขียว

คว่ำตายหงายเป็น เป็นพืชดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบหิน (CRASSULACEAE)

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความดัน เบาหวาน ซึมเศร้า ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร คลายกังวล ต้านการชัก ลดการบีบตัวที่ไวของกระเพาะอาหาร รวมถึงต้านมะเร็ง รวมถึงใช้ยังประโยชน์ในทางพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น เอาดอกไปไว้ในยุ้งข้าว บูชารถ ขึ้นบ้านใหม่ เอาใบใส่พานบายศรีสู่ขวัญบ่าวสาว ทำขวัญนาค และปลูกไว้เพื่อความเป็นมงคล

ประโยชน์ของคว่ำตายหงายเป็น

ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบนำมารับประทานสดร่วมกับลาบ

คว่ำตายหงายเป็น เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาปลูกกันไว้ตามบ้าน เด็ก ๆ มักนำมาเล่นโดยเอาใบมาวางทับในหนังสือ เมื่อทิ้งไว้ไม่นานตรงขอบของใบก็จะมีรากงอกออกมาโดยไม่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยง สมุนไพรชนิดนี้มีอายุหลายปี สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ไม่จำกัด อีกทั้งยังมากด้วยสรรพคุณทางยา ตามพื้นบ้านจึงมักนำมาปลูกไว้ในกระถางหรือในชามกะละมังที่ไม่ใช้แล้ว หรือปลูกตามสวนในบ้าน


สรรพคุณของคว่ำตายหงายเป็น

ทั้งต้นและรากมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น เป็นยาฟอกเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี (ราก, ทั้งต้น)

คนเมืองจะใช้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)

ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบคว่ำตายหงายเป็นนำมาผสมกับก้านและใบขี้เหล็กอเมริกา ใบสับปะรด และแก่นสนสามใบ ต้มอบไอน้ำ ช่วยบำรุงกำลังสำหรับคนติดฝิ่น (ใบ)

รากนำมาตากแห้งใช้เป็นยาลดไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)

ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด (ราก, ทั้งต้น)

ใบใช้วางบนหน้าอกเป็นยารักษาอาการไอและอาการเจ็บหน้าอก บ้างใช้นำมาวางไว้บนศีรษะเป็นยาแก้ปวดหัว (ใบ)

ใช้เป็นยาแก้คอบวม คอเจ็บ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำคั้นเอาน้ำมาอมกลั้วคอ (ทั้งต้น)

ตำรายาไทยจะใช้ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค (ใบ)

ใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ กระเพาะแสบร้อน ด้วยการใช้รากและใบสด นำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้รับประทาน (รากและใบ)

ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว (ใบ)

ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และเย้า จะใช้ใบหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ใบ, ทั้งต้น)


ใบนำมาต้มกับน้ำกินหลังคลอดเป็นยาแก้อาการผิดเดือน (บ้านม้งหนองหอย แม่แรม เชียงใหม่) (ใบ)

ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ (ราก, ทั้งต้น)

ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบหรือรากสดนำมาตำพอกเป็นยาห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลโดนมีดบาด ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว (ราก, ใบ, ทั้งต้น)

ใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอกรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ชนิดไม่เป็นมาก) และผิวหนังไหม้ที่เกิดจากการถูกแดดเผา หรือใช้เฉพาะใบเอามาเผาไฟเล็กน้อยนำมาตำพอกก็ได้ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)

ใบใช้ตำพอกเป็นยาฆ่าเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง รักษาตาปลา รักษาหูดที่เท้า (ใบ)

ใช้เป็นยาแก้ฝีหนองทั้งภายในและภายนอก รักษาฝี แก้พิษฝีหนอง ฝีเต้านม ด้วยการใช้รากและใบสดรวมกัน 60 กรัม นำมาตำให้พอแหลก คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี (ราก, ใบ, ทั้งต้น)

น้ำคั้นจากใบใช้หยดลงบนผิวหนังเพื่อรักษาโรคหิดและขี้เรื้อน (ใบ)

รากนำมาตากแห้งใช้เป็นยาแก้หัดหรืออีสุกอีใสได้ (ราก)

ใบใช้เป็นยาแก้ลมพิษ โดยนำมาตำพอกบริเวณผื่น (ใบ)

ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดอักเสบ ฟกช้ำบวม ขับพิษ ถอนพิษ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)




น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับการบูร นำมาทาถูนวดแก้อาการเคล็ดขัดยอก แพลง กล้ามเนื้ออักเสบ และช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดี หรือทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ หรือจะใช้รากหรือทั้งต้นสดนำมาตำพอกแก้อาการเคล็ดขัดยอกก็ได้ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)

น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทารักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)

ชาวม้งจะใช้ใบนำมาหั่นให้เป็นฝอยแล้วตุ๋นกับไข่รับประทานเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (ใบ)

ใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอกแก้อาการปวดกระดูก กระดูกหัก กระดูกร้าว ปวดตามข้อ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)

บางข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้เป็นยาทาถูนวดระงับอาการโตของอวัยวะในโรคเท้าช้าง (ใบ) (ข้อมูลที่ได้มาไม่มีแหล่งอ้างอิง)



ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม ใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 36 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ยาสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกแผลบริเวณที่ต้องการ


อ้างอิงข้อมูลบางส่วน https://medthai.com/
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น