มารู้จักวัณโรคหลังโพรงจมูก ภัยเงียบตัวร้ายที่ทำให้ น้ำตาล เดอะสตาร์ จากไป

Advertisements

มารู้จักวัณโรคหลังโพรงจมูก ภัยเงียบตัวร้ายที่ทำให้ น้ำตาล เดอะสตาร์ จากไป

จากกรณีการเสียชีวิต ของ "น้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว" หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปทางจมูก เพื่อตัดชิ้นเนื้อบริเวณหลังโพรงจมูก นำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตไปแล้วนั้น

ล่าสุด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้รายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูก ระบุว่า

"ตัดชิ้นเนื้อผ่านทางกล้อง นำไปตรวจ ปรากฎว่าชิ้นเนื้อมีลักษณะเข้าได้กับวัณโรค มีส่วนบางส่วนของเซลล์ เนื้อเยื่อ ทางเราอยากให้แน่ใจว่าวินิจฉัยถูกต้อง ตรวจชิ้นเนื้อไม่พบวัณโรค แต่ลักษณะการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเข้าได้กับวัณโรค เลยนำไปตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยัน เรียกว่าเทคนิค PCR คือตรวจดีเอ็นเอของสิ่งที่เราอยากดู ผลเป็นบวก จึงบ่งชี้ว่าวัณโรคที่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก"

"วัณโรคไม่ได้น้อยลงในประเทศไทย ข้อมูลที่องค์การอนามัยโรคใช้อ้างอิงในปี 2560 เรามีคนไข้กว่า 80,000 คน แต่วัณโรคไม่ได้น่ากลัว น่ารังเกียจ วัณโรครักษาได้ ไม่น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ โดยในเมืองไทย 83% เจอในปอด แต่ 17% เจอนอกปอด เช่น กระดูก อวัยวะต่างๆ และกลุ่มวัณโรคอยู่นอกปอดน้อยกว่า 1% ก็เจอหลังโพรงจมูก อย่างน้ำตาลเป็นกรณีไม่ปกติจริงๆ เจอน้อยมากๆ บริเวณเกิดอาจมีเส้นเลือดอยู่ เลยมีเลือดออก ไม่อยากให้ตื่นตระหนก กรณีน้ำตาลไม่มีอาการอะไรเลย จึงแนะนำให้ตรวจร่างกายประจำปี"

วัณโรคหลังโพรงจมูก คืออะไร

วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อวัณโรค หรือเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ซึ่งคาดกันว่ามีผู้ติดเชื้อนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก แต่อาจไม่ได้แสดงอาการป่วย ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยวัณโรคสามารถติดต่อได้ทางละอองอากาศ และส่วนมากวัณโรคจะพบได้ที่ปอด เพราะการติดเชื้อจะติดทางลมหายใจ เข้าสู่ปอด ส่วนใหญ่ปอดจึงเป็นอวัยวะที่ติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายที่สุด

ทว่าวัณโรคก็เกิดได้กับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน เรียกว่า วัณโรคนอกปอด เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคกระดูกสันหลัง วัณโรคในช่องปาก หรือวัณโรคในโพรงจมูก เป็นต้น โดยอาจลุกลามจากปอดไปสู่ระบบน้ำเหลือง กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเชื้อที่ก่อวัณโรคในอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย แพทย์จะเรียกว่าเชื้อโรคเลียนแบบ (Great Imitator) เพราะเชื้อนี้สามารถเลียนแบบโรคอื่น ๆ ได้หลายโรค ทั้งนี้กรณีเป็นวัณโรคนอกปอด อย่างเช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก มักไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลปี 2560 พบคนไทยป่วยวัณโรคประมาณ 8 หมื่นคน โดยร้อยละ 83 เป็นวัณโรคปอด ร้อยละ 17 เป็นวัณโรคนอกปอด ขณะที่วัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1

วัณโรคหลังโพรงจมูก

วัณโรคหลังโพรงจมูก อาการเป็นอย่างไร

ที่เราบอกว่าวัณโรคหลังโพรงจมูกเป็นภัยเงียบตัวร้าย ก็เพราะว่าผู้ป่วยวัณโรคหลังโพรงจมูก 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ ที่แสดงว่าป่วยวัณโรคหลังโพรงจมูกอยู่ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง

ทว่าเพื่อความไม่ประมาทต่อสุขภาพ หากมีอาการในลักษณะนี้หลาย ๆ ข้อ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าติดเชื้อวัณโรคได้ ควรรีบไปตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยด่วน เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของโรควัณโรคที่เชื้ออาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้

– มีไข้ต่ำ ๆ คล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หรือตอนกลางคืน

– ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนไม่สบาย

– อ่อนเพลีย

– เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยลง

– น้ำหนักลด

– เหงื่อออกตอนกลางคืน

– อาจมีอาการไอเป็นเลือด ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ในผู้ป่วยวัณโรคระยะลุกลาม

วัณโรคหลังโพรงจมูก

วัณโรคหลังโพรงจมูก ใครเสี่ยงบ้าง

วัณโรคเป็นโรคที่ทุกคนเสี่ยงเป็นได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะหากไปสัมผัสหรืออยู่ในที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคแพร่เชื้อให้ ทั้งนี้กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นวัณโรคได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ก็คือ

* ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค

* ผู้ป่วยเบาหวาน

* ผู้สูงอายุ

* ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ชนิดต่าง ๆ

* ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ

* ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด

* ผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

* ผู้ป่วยโรค HIV

วัณโรคหลังโพรงจมูก รักษาอย่างไร

การรักษาวัณโรคในปัจจุบันสามารถใช้ยารักษาวัณโรคซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยระยะแรกของการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย หากมีอาการดีขึ้นแล้วแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาดแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะรักษาได้ยากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย เช่น ไอเป็นเลือดจำนวนมาก มีภาวะอากาศรั่วเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้อวัณโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือด เคสหนักแบบนี้ก็จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

วัณโรคหลังโพรงจมูก ป้องกันได้ไหม

เราสามารถป้องกันวัณโรคได้ ดังนี้

– ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

– ตรวจสุขภาพประจำปีอย่าให้ขาด

– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

– หมั่นเช็กอาการผิดปกติของร่างกาย โดยหากพบว่ามีไข้ต่ำ ๆ ไม่หาย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ แม้จะเกิดเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรรีบไปตรวจสุขภาพโดยด่วน

ความเสี่ยงในการเกิดโรควัณโรคหลังโพรงจมูกอาจมีไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นการหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าละเลยอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ของทั้งตัวเองและคนใกล้ตัวด้วยนะคะ


ขอบคุณ : คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : รามา ชาแนล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
Advertisements

ไม่มีความคิดเห็น